วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นา นา วิธีป้องกันต่อผิดขั้ว


ผมมีปัญหาเกี่ยวกับโครงงานที่ใช้ไฟเลี้ยงภายนอก หากป้อนไฟเลี้ยงผิดขั้วก็อาจจะทำให้โครงงานนั้นเสียหายได้ โดยเฉพาะโครงงานที่ใช้อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ ตัวอย่างเช่น วงจรที่ไอซีเบอร์ 555 ป้อนไฟเลี้ยงผิดขั้วเพียงพริบตาเดียว ก็ทำให้ไอซีเสียระเบิดกระเด็น เห็นต่อหน้าต่อตาเลย อันตรายพอสมควร นอกจากนี้อุปกรณ์ที่มีขั้วชัดเจนอย่างตัวเก็บประจุชนิดอิเล็กทรอไลค์ ก็มีปัญหามากเช่นกัน โดยเฉพาะในวงจรจ่ายไฟ หากต่อไฟผิดขั้วมันก็จะระเบิดได้ยินเสียงดังมาก
[...]
กรุณาอ่านต่อ :: http://www.eanic.com/blog/%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94/

ลองชุดจ่ายไฟแบบไม่ง้อหม้อแปลง


หากจะสร้างวงจรจ่ายไฟตรงขนาดเล็กสักชุดหนึ่ง เพื่อต้องการประหยัดงบประมาณและลดขนาดโครงงานลงให้เหมาะสมที่สุด แต่ท่านคงพบปัญหาน่ารำคาญที่หลีกเหลี่ยงยาก คือ หม้อแปลงไฟฟ้า ไม่สามารถหาแบบราคาถูกและขนาดเล็กได้ เช่น ผมต้องการสร้างวงจรจ่ายไฟตรงขนาด 12V 0.1A ควรใช้หม้อแปลงขนาด 0.1A-0.2A แต่เมื่อไปดูที่ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พบว่า มีขนาดเล็กสุด คือ 0.5A โดยมีราคาแพงประมาณ 50-55บาท ตั้งงบประมาณไว้แค่ 60 บาท แบบนี้คงเกินงบแน่ แถมยังมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ดูไม่เหมาะสมเลยครับ  [....]

กรุณาอ่านต่อ :: http://www.eanic.com/blog/%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87/

เพิ่มพลังให้แอมป์โบราณ




    เด็กหนุ่มคนหนึ่งมาปรึกษาผมเกี่ยวกับแอมป์(เครื่องขยายเสียง)ที่ได้รับมรดกจากพี่ชาย เมื่อดูลักษณะภายนอกตามภาพที่ 1 แล้วจะเห็นว่า สภาพยังไม่เก่านัก คงเนื่องจากเจ้าของแอมป์เครื่องนี้ดูแลดี
แต่เขาบอกว่า  คุณภาพเสียงไม่ค่อยเอาไหนเลย เสียงเบาและเสียงไม่ค่อยทุ้ม  ด้วยปัญหานี้ จึงคิดดัดแปลงเพิ่มความดังและเสียงทุ้มให้มากขึ้น นอกจากนี้ เขายังบ่นถึงเรื่องการซ่อมใหญ่ครั้งก่อนที่เปลี่ยนหม้อแปลง ทำให้ค่าซ่อมแพงประมาณ 200 บาท จึงไม่อยากให้เกิดปัญหาเดิมนี้อีกครับ


ภาพ 1 ลักษณะภายนอกของแอมป์ตัวนี้

    ตอนนี้เขาก็กำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ผมจึงอยากให้เขาลองดัดแปลงเอง เพราะคิดว่าไม่ยากนัก หากมีงบประมาณสัก 150บาท-200บาท ก็จะได้แอมป์เก่ากึกที่คุณภาพเสียงเหมือนใหม่ เสียงใหญ่เกินตัว อิอิ โฆษณาเกินไปไหมเนี้ย!


ส่องดูภายใน
    เราลองแกะฝาเครื่องออกมาดูลักษณะภายใน ตามภาพที่ 2 จะเห็นว่า เป็นวงจรขยายเสียงแบบโอทีแอล (OTL) โดยสังเกตุได้จาก 3 จุดใหญ่ คือ

[[**]] ใช้ตัวเก็บประจุขนาดใหญ่ที่สุดเพียงตัวเดียว ในภาคจ่ายไฟตรงของแอมป์เครื่องนี้ ซึ่งมีค่า 2200uF  35V

[[**]] ส่วนตัวเก็บประจุขนาดกลางๆ จำนวน  2 ตัว(ระบบเสียงสเตอริโอ) ทำหน้าที่เชื่อมโยงสัญญาณเสียงออกสู่ลำโพง

[[**]] สายไฟจากหม้อแปลงมีเพียง 2 เส้นเพราะใช้ภาคจ่ายไฟที่มีเพียงไฟบวกและลบครับ



ภาพ 2 ลักษณะภายในแอมป์เครื่องนี้

เป็นมิตรกับลำโพง    แอมป์เครื่องนี้มีจุดเด่น คือ ไม่กินลำโพง หรือไม่เคยทำให้ลำโพงขาดเลย คงเพราะว่า การใช้ตัวเก็บประจุเชื่อมโยงสัญญาณเสียงออกสู่ลำโพง ทำให้ไฟกระแสตรงไม่มีโอกาสไหลผ่านลำโพงได้เลย 

    ปกติหากเราป้อนไฟกระแสตรงให้กับลำโพงเพียงแค่ 7V นานไม่ถึงนาที ก็อาจจะทำให้ลำโพงขาดได้แล้วครับ

    นอกจากนี้ เมื่อดูไฟเลี้ยงของแอมป์ชุดนี้ ก็มีขนาดเล็กทำให้จ่ายกระแสได้น้อย  เมื่อปรับความดังของเสียงมากขึ้น ก็ยังไม่มีกำลังไฟฟ้าแรงพอที่จะทำให้ลำโพงขาดได้ครับ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้แอมป์ตัวนี้ยังใช้ได้อีกนานครับ

    เข้าใจจุดด้อย
    อย่างไรก็ตามแอมป์ตัวนี้ยังมีจุดด้อย ตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราจึงควรพิจารณาหาสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถแยกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

[[**]] ภาคจ่ายไฟไม่แรงพอ จึงทำให้เสียงไม่ค่อยดังครับ เมื่อดูจากอุปกรณ์หลักๆ คือ หม้อแปลงสามารถจ่ายไฟได้เพียง 24V 1A เท่านั้น

[[**]] ตัวเก็บประจุที่เชื่อมโยงสัญญาณเสียงออกสู่ลำโพงมีค่าเพียง 1000uF 16V เท่านั้น ย่อมทำให้เสียงทุ้มไม่ดีพอ

[[**]] การไม่มีฟิวส์ไว้ป้องกันไฟเกินให้หม้อแปลง ย่อมทำให้หม้อแปลงเสียหายได้ง่ายครับ

ลงมือเพิ่มพลังเสียง    สืบเนื่องจาก คุณจ้อย จ.นครพนม ,คุณอดุล จ.กรุงเทพ และผู้อ่านท่านอื่นๆ แจ้งว่า มีระดับการศึกษาน้อย แต่สนใจด้านอิเล็กทรอนิกส์ พออ่านวิชาการยากๆ แล้วไม่ค่อยเข้าใจ
ผมรู้สึกยินดีที่หลายท่านสนใจด้านนี้ จึงพยายามแนะนำแบบง่ายๆ หลี่กเหลี่ยงวงจรซับซ้อน เน้นปฏิบัติกับอุปกรณ์จริงๆ คงช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ค่อยๆ ฝึกฝนไม่อะไรยากเกินความพยายามหรอกครับ 

เรามาลงมือดัดแปลงแอมป์ตัวเก่านี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกันเถอะ โดยมีขั้นตอนดังนี้

เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเตรียมอุปกรณ์ที่จะนำมาดัดแปลงให้พร้อม ตามภาพที่ 3 ครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

[[**]] หม้อแปลงขนาด 2A 18V CT 18V (ขา CT ไม่ใช้) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหม้อแปลงตัวเดิม จึงจ่ายกำลังไฟได้ดีขึ้น

[[**]] ตัวเก็บประจุที่ใช้ในภาคจ่ายไฟ เมื่อใช้หม้อแปลงที่จ่ายแรงดัน 36V (18V+18V) พอแปลงเป็นไฟกระแสตรงแล้วจะมีค่าแรงดันสูงประมาณ 50V  ผมจึงเลือกใช้ตัวเก็บประจุที่ทนแรงดัน 63V โดยยังใช้ค่าความจุเท่าเดิม คือ 2200uF ครับ

[[**]] ตัวเก็บประจุอีก 2 ตัว คือ ตัวเก็บประจุในภาคขยายเสียงทั้งสองข้าง เดิมใช้ค่าน้อยไป ผมเปลี่ยนเป็น 2200uF 35V ทำให้เสียงทุ้มและทนแรงดันสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยครับ

[[**]] ฟิวส์ ใส่ไว้เพื่อป้องกันไฟเกิน หม้อแปลงขนาดนี้ใช้ฟิวส์ขนาด 0.5A ก็พอ ผมเลือกกระปุกฟิวส์แบบสายไฟต่อปลายทั้งสองข้างหรือแบบหางหนูเพราะสะดวกดี ตัดสายไฟด้านไฟเข้า 220V แล้วต่อสายไฟของฟิวส์อนุกรมได้เลย(ง่ายดี)  ส่วนราคาก็ไม่แพงด้วยครับ



ภาพ 3 อุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาเปลี่ยน
เปลี่ยนอุปกรณ์เล็กๆ ก่อนการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ดีควรเปลี่ยนจากอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ก่อน ผมจึงเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเก็บประจุทั้งสามตัวก่อน โดยมันยึดติดอยู่บนแผ่นปรินต์ในกล่องแอมป์ครับ ตอนแรกผมคิดว่าจะลัดขั้นตอนนี้ แต่เคยมีผู้อ่านแจ้งว่า ควรแนะนำวิธีการถอดชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าง เพราะบางครั้งเขาถอดยาก ไม่เข้าใจวิธีการถอด ทำให้ยุ่งยากและอาจจะเกิดการเสียหายกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้

ผมจึงขอแนะนำวิธีการถอดแผ่นปรินต์ ดังนี้
    [[**]]ดึงลูกบิดที่หน้าปัดด้านหน้าออกให้หมด ตามภาพที่ 4 หากติดแน่นเกินไปก็อาจจะใช้ไขควงงัดได้ แต่ควรค่อยๆ ดึงออกอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหายครับ




ภาพ 4 ดึงลูกบิดต่างๆ ออกให้หมด
    [[**]]จากนั้นพลิกด้านล่าง แล้วใช้ไขควงถอดสกรูยึดแผ่นปรินต์ออกให้หมด ตามภาพที่ 5 แล้วถอดแผ่นปรินต์ออกมาอย่างระมัดระวัง และจัดสายไฟให้ดี ตามภาพที่ 6 ครับ



ภาพ 5 ถอดสกรูด้านล่างออก







ภาพ 6 ถอดแผ่นปรินต์ออกจากกล่อง
    [[**]] ใช้หัวแร้งจี้ตะกั่วให้ละลาย แล้วใช้ที่ดูดตะกั่วดูดตะกั่วออก (ตามภาพที่ 7) เพื่อถอดตัวเก็บประจุเปลี่ยนทั้ง 3 ตัว ควรจำขั้วของตัวเก็บประจุทั้งหมดให้ดีด้วย เพราะหากใส่ตัวเก็บประจุตัวใหม่ผิดขั้ว ก็อาจจะทำให้วงจรจ่ายไฟและวงจรขยายเสียงของแอมป์เสียหายได้ครับ อาจจะใช้ปากกาแต้มทำเครื่องหมายไว้กันลืมก็ได้ครับ

    นอกจากนี้ ก่อนบัดกรีตัวเก็บประจุใหม่ลงไป ควรถูกขาตัวเก็บประจุทุกตัวให้ดีก่อน ตามภาพที่ 8 เพื่อจะได้บัดกรีง่าย และตะกั่วติดแน่นยิ่งขึ้นครับ


ภาพ 7 ดูดตะกั่วออกเพื่อถอดตัวเก็บประจุ

ภาพ 8 ถูขาตัวเก็บประจุ เพื่อบัดกรีได้ติดแน่นยิ่งขึ้น
    การติดตั้งหม้อแปลงและฟิวส์ลำดับต่อไปมาเปลี่ยนหม้อแปลงและเพิ่มฟิวส์กัน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ  โดยมีขั้นตอนดังนี้
[[*]] ใช้ไขควงถอดสกรูยึดหม้อแปลงตัวเก่าออก ตามภาพที่ 9 ครับ ควรจำสายไฟที่ต่อกับหม้อแปลงให้ดีเวลาต่อหม้อแปลงตัวใหม่จะได้ไม่มีปัญหา  ซึ่งสังเกตุไม่ยากหรอก (ดูภาพที่ 10 ประกอบ) แบ่งเป็น 2 คู่ คือ
[[**]] สายเส้นใหญ่ 1 คู่ เพื่อต่อไฟบ้านเข้ากับหม้อแปลง
[[**]] สายไฟเส้นเล็ก 1 คู่ ก็ต่อไปยังวงจรจ่ายไฟของแอมป์ตัวนี้
    [[*]] นำหม้อแปลงตัวใหม่มายึดติดกับกล่องให้ดี ตามภาพที่ 11 ปกติจะติดตั้งยากเพราะตัวใหญ่กว่าหม้อแปลงตัวเก่า ก็ควรระวังเรื่องทับสายไฟต่างๆและวางให้ใกล้ช่องระบายความร้อนของกล่องด้วย เพราะขณะใช้งานย่อมเกิดความร้อน จะได้ช่วยระบายความร้อนจากหม้อแปลงได้ดีครับ
    [[*]] สำหรับการติดตั้งฟิวส์นั้น ผมต่ออนุกรมไว้ระหว่างสายไฟบ้านก่อนเข้าหม้อแปลงครับ

    ใช้ท่อหดแทนเทปพันสายไฟ    เมื่อต่อสายไฟเข้ากับหม้อแปลงเรียบร้อยแล้ว  นอกจากเราจะใช้เทปพันสายไฟเพื่อกันลัดวงจรแล้ว ยังสามารถใช้ท่อหดได้อีกด้วย ในช่วงหลังๆนี้ ผมจะใช้ท่อหดแทนเทปพันสายไฟแล้ว เพราะแน่นกว่า ไม่ค่อยหลุดง่าย งานออกมาเรียบร้อยดีครับ
    ท่อหด มีลักษณะเป็นท่อพลาสติกที่หดตัวเมื่อได้รับความร้อนสูง ประมาณ 125 องศาเซลเซียส  โดยมีหลายสีและหลายขนาดให้เลือก  ปกติผมใช้ 2 ขนาด (ตามภาพที่ 12) คือ (1.) ขนาด 2.5 มม ใช้กับสายไฟเดี่ยว และ (2.) ขนาด 8 มม.ใช้กับสายไฟคู่ครับ
    วิธีการใช้ท่อหดก็ไม่มีขั้นตอนมากมายนัก ดังนี้
[[**]] ตัดท่อหดยาวพอประมาณ(1นิ้ว)
[[**]] นำปลายสายไฟสอดในท่อหด และดึงท่อหดไปสุดสายไฟก่อน
[[**]] ต่อสายไฟเข้าด้วยกัน และบัดกรีให้เรียบร้อย ตามภาพที่ 13 ระวังอย่าให้ความร้อนของการบัดกรีใกล้ท่อหดเกินไป อาจจะทำให้ท่อหดหดตัวก่อนเวลาที่เราต้องการ
[[**]] เลื่อนท่อหดมาปิดทับจุดบัดกรีให้มิดพอดี แล้วให้ความร้อนจากไฟแช็กหรือเครื่องเป่าลมร้อนลนที่ท่อหดจนหดตัวลงอย่างเรียบร้อย ตามภาพที่ 14 โดยระวังอย่าให้ความร้อนนานเกินไป อาจจะทำให้ท่อหดไหม้ได้ครับ
หากท่านคิดว่า ความหนาของท่อหดน้อยไป ก็ใช้ท่อหดทับกันสองชั้นก็ได้ ช่วยป้องกันจุดต่อสายไฟได้ดียิ่งขึ้น ผมเคยใช้กับสายไฟวางใกล้น้ำ ซึ่งมีความชื้นสูง ก็ไม่เกิดปัญหาใดๆ ครับ



ภาพ 9 ถอดสกรูที่ยึดหม้อแปลงออก


ภาพ 10 หม้อแปลงตัวเก่า

ภาพ 11ติดตั้งหม้อแปลงตัวใหม่




ภาพ 12 ท่อหดที่เลือกใช้


ภาพ 13 บัดกรีจุดต่อสายไฟ


ภาพ 14 ทำให้ท่อหดหดตัวลงด้วยความร้อน





ทดสอบและลองพลังเสียง
    เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็ตรวจสอบแอมป์อีกครั้ง จากนั้นลองนำลำโพงมาต่อช่องเสียบลำโพงตามปกติ และปรับความดังของเสียงไว้ต่ำสุดก่อน

    แล้วเสียบไฟบ้าน เปิดสวิตช์ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ท่านจะได้ยินเสียงลำโพงดังตุ๊บออกมาแล้วเงียบหายไป ก็โล่งอกไปนะครับ มือใหม่อย่างเราใกล้ถึงจุดหมายเพิ่มพลังให้แอมป์เก่ากึกแล้ว

    ลำดับต่อไปควรใช้มัลติมิเตอร์วัดแรงดันที่จุด 2 ใหญ่ๆ คือ
[[**]] วงจรจ่ายไฟตรง ควรมีแรงดันประมาณ 50V ตามภาพที่ 15 โดยผมใช้สายวัดมิเตอร์สีดำจับที่ขาไฟลบ(ขาลบของลำโพงก็ได้) ส่วนสายวัดมิเตอร์สีแดงแตะที่ขาไฟบวกออก ตามปกติจะหาไม่ยาก คือ ขา K (ขาที่มีขีดสีขาว) ของไดโอดในชุดจ่ายไฟตรง ลองวัดที่ไดโอดทั้ง 4 ตัวก็ได้ จะมีไดโอดสองตัวที่วัดแรงดันได้ 50V แน่นอน เหตุที่ผมวัดแบบนี้ เพราะสะดวกในการวัด ไม่ต้องพลิกแผ่นปรินต์วัดที่จุดบัดกรีโดยตรงครับ

[[**]] วัดแรงดันเซ็นเตอร์ คือ แรงดันที่ขาบวกของตัวเก็บประจุ(เชื่อมโยงสัญญาณเสียงออกลำโพง) ตามปกติในแอมป์แบบนี้จะมีแรงดันเซ็นเตอร์ประมาณครึ่งหนึ่งของไฟเลี้ยง ซึ่งในกรณีนี้จึงค่าแรงดันประมาณ 25V ครับ

ลองนำสายวัดมิเตอร์สีดำจับที่ขาลบเช่นเดิม ส่วนสายวัดมิเตอร์สีแดงลองวัดที่ขาใดขาหนึ่งของตัวต้านทานค่า 0.5 ohms 1W (เป็นตัวต้านทานใหญ่ที่สุดในแผ่นปรินต์) ในแต่ละข้างของวงจรขยายเสียงจะมีตัวต้านทานนี้ 2 ตัว ลองวัดดูพบว่ามีเพียงตัวเดียวที่วัดแรงดันได้ประมาณ 22V ตามภาพที่ 16  ถือว่าใกล้เคียงครึ่งหนึ่งของไฟเลี้ยง (25V) แล้วครับ

    เหตุผลที่ผมวัดแรงดันที่ขาตัวต้านทานนี้ เพราะว่า การวัดแรงดันที่ขาบวกของตัวเก็บประจุนั้น จำเป็นต้องพลิกแผ่นปรินต์ก่อน ซึ่งไม่ค่อยสะดวกนัก ปกติอุปกรณ์ทั้งสองตัวนี้จะเชื่อมโยงกันเสมอครับ
   

ภาพ 15 วัดแรงดันของวงจรจ่ายไฟตรง
หมายเหตุ หากท่านไม่มีมัลติมิเตอร์แบบดิจิตอลก็ใช้มัลติมิเตอร์แบบเข็มแทนได้ โดยตั้งย่านวัดแรงดันไว้ที่ 250VDC และ 50VDC ครับ

    เมื่อวัดแรงดันได้ถูกต้องแล้ว ก็ลองป้อนสัญญาณเสียงดีๆ เพื่อทดสอบพลังเสียงกันเลยครับ ผลปรากฏว่า เสียงดังขึ้นมาก เสียงทุ้มก็แน่น จนลำโพงคู่เก่ารับไม่ไหวแล้ว สงสัยต้องถอยลำโพงขนาด 12 นิ้วมาแล้ว  สำหรับกำลังวัตต์ที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็มีค่าประมาณ 30W+30W เต็ม(ที่ลำโพง 8W ohms ครับ

    ผมหวังว่า วิธีเพิ่มพลังให้แอมป์เก่ากึกนี้ คงเสมือนชุบชีวิตแอมป์เก่าของท่านให้กลับมีชีวิตชีวีใหม่ขึ้นมา ต่อไปเพื่อนๆ จะถามว่า “แอมป์นี้กี่วัตต์” , “ตัวเล็กแต่เสียงดีจัง” , ”ราคาเท่าไหร่” และ “ ขายให้ผมได้ไหม” ขอให้สนุกกับอิเล็กทรอนิกส์นะครับ…


ภาพ 16  วัดแรงดันเซ็นเตอร์


ภาพ 17 ลักษณะภายในแอมป์ที่ดัดแปลงเสร็จแล้ว

วงจรขับรีเลย์ด้วยทรานซิสเตอร์


ผมขอแนะนำวงจรขับรีเลย์ด้วยทรานซิสเตอร์ที่ผมมักเลือกใช้งานบ่อยๆ ประหนึ่งสูตรสำเร็จก็ว่าได้ เมื่อต้องการงานลักษณะนี้ ก็สามารถเลือกวงจรเหล่านี้มาใช้ได้เลย เปลี่ยนค่าอุปกรณ์ ทดแทนกันได้หมด หากจะแกะของเก่ามาใช้ใหม่ก็ไม่ผิดกติกาใดๆ ครับ

กรุณาอ่านต่อที่นี่ : http://www.eanic.com/blog/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C/